ประวัติ ของ อัลเบร์โต ฟูฆิโมริ

ประวัติการศึกษา

อัลเบร์โต ฟูฆิโมริ เกิดเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 ในกรุงลิมา[5] พ่อแม่ของเขาเป็นชาวญี่ปุ่นที่อพยพมาอยู่ในประเทศเปรู โดยบิดาชื่อ นาโออิจิ ฟูจิโมริ (สกุลเดิม: มินามิ) ส่วนมารดาชื่อ มุตสึเอะ อิโนโมโตะ ฟูจิโมริ (สกุลเดิม: อิโนโมโตะ) โดยอพยพมาจากเมืองคูมาโมโตะ และเข้ามาในเปรูในปี พ.ศ. 2477[6][7] ทำให้ฟูฆิโมริมีทั้งสัญชาติเปรูและสัญชาติญี่ปุ่น เขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมการเกษตรจากมหาวิทยาลัยการเกษตรแห่งชาติลาโมลินา และปริญญาโทสาขาคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-มิลวอกีในสหรัฐอเมริกา[8]

ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก

ฟูฆิโมริลงสมัครประธานาธิบดีใน พ.ศ. 2533 เศรษฐกิจของประเทศเปรูในขณะนั้นตกอยู่ในภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรง เขานำเสนอนโยบายแก้ปัญหาโดยการปฏิรูปอย่างค่อยเป็นค่อยไป แตกต่างจากบาร์กัส โยซา คู่แข่งที่เสนอจะใช้นโยบายรุนแรง เขาชนะการเลือกตั้งไปอย่างเหนือความคาดหมาย และกลายเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับตำแหน่งผู้นำประเทศในทวีปอเมริกาใต้

แต่เมื่อขึ้นดำรงตำแหน่งจริง ฟูฆิโมริได้ทำการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจแตกต่างจากนโยบายที่เขาใช้หาเสียง โดยใช้วิธีเปลี่ยนแปลงนโยบายที่ส่งผลกระทบรุนแรง (ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ "ฟูฆิช็อก") เช่น ยกเลิกการควบคุมค่าสาธารณูปโภคซึ่งมีผลทำให้ราคาสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ รวมไปถึงน้ำมันถีบตัวสูงขึ้นอย่างมาก ยกเลิกการควบคุมค่าเงิน เปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศ ปรับระบบการเก็บภาษี การปรับเปลี่ยนนโยบายเหล่านี้มีจุดประสงค์อย่างหนึ่งคือ เพื่อให้องค์การการเงินระหว่างประเทศยอมยื่นมือช่วยเหลือประเทศเปรูซึ่งในขณะนั้นไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยตัวเองได้[9] หลังจากที่ฟูฆิโมริดำเนินนโยบายดังกล่าว กองทุนการเงินระหว่างประเทศจึงยอมให้เปรูกู้ยืมเงิน เงินเฟ้อลดลงอย่างรวดเร็ว และการลงทุนจากต่างชาติเพิ่มมากขึ้น[10] นอกจากนี้ เขายังทำการแปรรูปองค์กรรัฐวิสาหกิจจำนวนมาก และเปลี่ยนค่าเงินของเปรูจากอินตีเป็นนวยโบซอล

อย่างไรก็ตาม ฟูฆิโมริไม่สามารถปฏิรูปเศรษฐกิจหรือจัดการกับกบฏลัทธิเหมากลุ่มเซนเดโรลูมิโนโซได้ตามที่เขาต้องการเพราะอำนาจในสภาตกอยู่กับพรรค APRA และ FREDEMO เขาจึงทำรัฐประหารตนเอง (auto-coup) ในวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2535 การทำรัฐประหารครั้งนี้นอกจากจะเป็นที่ยอมรับของประชาชนแล้วยังทำให้คะแนนความนิยมของรัฐบาลฟูฆิโมริสูงขึ้นด้วย ฟูฆิโมริมักใช้การสนับสนุนของประชาชนเป็นข้อแก้ตัวในการทำรัฐประหารครั้งนี้ว่า “มันไม่ใช่การกระทำที่ขัดแย้งกับประชาธิปไตย แต่เป็นการตามหาการเปลี่ยนแปลงที่จะรับประกันประชาธิปไตยที่ถูกต้องและมีประสิทธิผล”[11]

การทำรัฐประหารของฟูฆิโมริถูกต่อต้านจากนานาชาติ องค์การรัฐอเมริกันต่อต้านการทำรัฐประหารและเรียกร้องให้กลับคืนสู่ระบอบระบอบประชาธิปไตย[12] หลังการเจรจาระหว่างองค์การรัฐอเมริกัน รัฐบาล และกลุ่มผู้คัดค้าน ฟูฆิโมริต้องการให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อให้ยอมรับรัฐประหาร แต่องค์การรัฐอเมริกันปฏิเสธ ฟูฆิโมริจึงเสนอให้มีการเลือกตั้ง Democratic Constituent Congress (CCD) ซึ่งมีหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และให้มีการทำประชามติรับรอง ข้อเสนอนี้ได้รับยอมรับจากการประชุมเฉพาะกิจขององค์การรัฐอเมริกันในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม และการเลือกตั้ง CCD ถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 1992[11]

นอกจากนี้ ประเทศต่าง ๆ ก็แสดงท่าทีต่อต้านรัฐประหารครั้งนี้ เวเนซุเอลาตัดความสัมพันธ์ทางการทูตและอาร์เจนตินาถอนทูตออกจากประเทศเปรู ชิลีเข้าร่วมกับอาร์เจนตินาในการเรียกร้องให้เปรูถูกถอดออกจากการเป็นสมาชิกองค์การรัฐอเมริกัน ประเทศที่ให้ความช่วยเหลือทางการเงินต่างยืดเวลาการส่งความช่วยเหลือออกไป สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และสเปน ยกเลิกการช่วยเหลืออื่นที่ไม่ใช่การช่วยเหลือในด้านมนุษยชน รัฐประหารครั้งนี้จึงส่งผลกระทบต่อแผนการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจและสร้างความยุ่งยากต่อการคืนเงินให้แก่ไอเอ็มเอฟ

ใกล้เคียง

อัลเบร์โต เดล ริโอ อัลเบร์โต โมเรโน อัลเบร์โต ฟูฆิโมริ อัลเบร์โต กอนตาดอร์ อัลเบร์โต เฟร์นันเดซ อัลเบร์โต กรานาโด อัลเบร์โต ออนกาโร อัลเบร์โต กัสโตร อัลเบร์โต ฆิเมเนซ อัลแบร์โต อากวีลานี